4 เทคนิคควรรู้ก่อนจะเปิด Hostel
ความฝันของวัยทำงานยุคใหม่ที่อาจกำลังส่งเสียงกู่ก้องอยู่ในใจให้ออกมาเป็นนายของตัวเอง ลงทุนเปิดกิจการส่วนตัวหลังจากอดทนเก็บออมเงินสักก้อนที่ได้จากงานประจำ และหนึ่งในธุรกิจที่กำลังได้รับความสนใจก็คือ ที่พักแบบ Boutique Hostel การปรับปรุงบ้านพักทรัพย์สินอาคารส่วนตัวที่มีอยู่ให้กลายเป็นที่พักของนักท่องเที่ยวแบ็คแพ็คเกอร์ แต่ก่อนจะเริ่มต้นลงมือทำก็ควรจะต้องศึกษาเทคนิคข้อควรรู้กันเสียหน่อย เราจึงขอเสนอไกด์บุ๊คนำทางสำหรับเจ้าของ Hostel มือใหม่
เลือกทำเลที่ตั้งตรงไหนดี ?
อย่างที่เคยบอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่าทำเลที่ตั้งเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ (จากบทความ รู้จักโฮสเทล ที่พักคู่ใจของเหล่าแบ็คแพ็คเกอร์ ) เราเลยขอย้ำอีกครั้ง เผื่อคนที่มาไม่ทันเมื่อต้นชั่วโมงเรียนแรก ด้วยเหตุผลที่ว่านักเดินเท้าสะพายกระเป๋าจากต่างแดนที่ถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก ที่ตั้งของ Hostel ควรจะเข้าถึงได้ง่าย มีการคมนาคมเดินทางไปมาสะดวก ไม่ต้องต่อรถมาก ยิ่งมีช่องทางระบบขนส่งสาธารณะด้วยก็จะยิ่งดี เพราะแบ็คแพ็คเกอร์ที่มาเที่ยวเมื่อลงสนามบินก็มักจะเปิดแผนที่ คลำหาเส้นทางด้วยตัวเอง การเลือกทำเล Hostel ที่เดินทางมาพักได้ไม่ยากเย็น ใกล้สถานที่อ้างอิงที่เป็นที่รู้จัก มีป้ายสัญลักษณ์สะดุดตา หรือลองคิดเอกลักษณ์ที่จำจดได้ง่ายให้ Hostel ของตัวเองก็นับเป็นตัวช่วยบอกใบ้สำคัญเพื่อการเดินทางเข้ามาเช็คอิน
ย่านที่มี Hostel อยู่เยอะในกรุงเทพ ยกตัวอย่างเช่น ข้าวสาร สีลม เยาวราช เอกมัย บริเวณแถบใกล้สถานีรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน หรืออยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ปัจจัยที่ตั้งอาคารจะเป็นตัวดึงดูดให้ให้นักเดินทางต่างถิ่นยิ่งอยากเข้ามาพักที่ Hostel ของคุณมากขึ้น
ทำโฮสเทลต้องยื่นเรื่องกฎหมายมั้ย ?
การทำธุรกิจ Hostel จัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ( มีห้องพักเกิน4ห้อง และให้เช่าไม่เป็นรายเดือน ) จึงจำเป็นต้องยื่นเรื่องต่อเจ้าหน้าที่เขตเพื่อขอเปลี่ยนประเภทการใช้งานอาคารจากเพื่อการพักอาศัยเป็นการขออนุญาตทำธุรกิจโรงแรมตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. ๒๕๕๑ (พรบ.โรงแรม2547, ภาษีโรงแรม, ใบอนุญาตฺ/จดทะเบียนโรงแรม) โดยก่อนจะเริ่มลงมือรีโนเวทอาคารบ้านพัก ตึกแถวที่มีอยู่เจ้าของโครงการและนักออกแบบควรจะต้องศึกษาเรื่องระยะถอยร่น ขนาดพื้นที่ใช้สอยระบบสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งความแข็งแรงของโครงสร้างสำหรับการใช้งานของคนจำนวนมาก เพราะข้อบังคับสำหรับบ้านพักอาศัยกับอาคารสาธารณะมีข้อบังคับที่แตกต่างกันอยู่หลายจุด
Dtip : การเปิดที่พักขนาดเล็กมีที่พักไม่เกิน 4 ห้อง รองรับผู้พักไม่เกิน 20 คน เป็นกิจการสนับสนุนรายได้เสริมไม่ถือว่าเป็นโรงแรม แต่ก็ต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดในเบื้องต้น และในความเป็นจริงพบว่าเกินครึ่งของโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวมักจะไม่จดทะเบียนโรงแรมตามข้อกำหนด เพราะความยุ่งยากในกฎหมายโรงแรม กฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และรวมทั้งเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเอกสารราคาสูง (!?) จึงทำให้เจ้าของกิจการหลายแห่งยังไม่มีใบขออนุญาตอย่างถูกต้อง
ต้องมีห้องน้ำเพิ่มอีกกี่ห้อง ?
เมื่อเปลี่ยนประเภทการใช้งานอาคาร ระบบไฟฟ้า ประปา เครื่องปรับอากาศก็จะต้องถูกปรับให้เหมาะสมกับประเภทการใช้งานใหม่ตามไปด้วย เราจะขอยกตัวอย่างสูตรสำเร็จการคำนวณจำนวนห้องน้ำและขนาดของแอร์ในอาคารทั่วๆ ไปไว้ใช้ประยุกต์ได้ในพื้นที่อาคารของคุณ
การคิดจำนวนห้องน้ำให้ใช้การหาอัตราส่วนจำนวนเตียงต่อจำนวนห้องน้ำ (1 ชุดห้องน้ำประกอบด้วย 1 ฝักบัวอาบน้ำ 1 โถสุขภัณฑ์ 1 อ่างล้างหน้า โถปัสสาวะชายเป็นส่วนเสริม) โดยอัตราเป็นเป็นไปได้ตั้งแต่ 4:1 , 7:1 , 9:1 หรือจำนวนเกิน 10 : 1 ชุดห้องน้ำ ตัวอย่างเช่น ใน 1 ชั้นมีจำนวนเตียงทั้งหมด 28 เตียงแล้วมาคำนวณด้วยอัตราส่วน 7:1 ก็จะได้ว่า 28 / 7 = 4 ดังนั้นในชั้นนี้จะมีชุดห้องน้ำอยู่ 4 ห้อง
การเลือกใช้อัตราส่วนจำนวนห้องน้ำเป็นเรื่องการความพร้อมด้านการบริการ เพราะห้องน้ำของ Hostel จะเป็นแบบห้องน้ำรวม อาจเกิดช่วงเวลาที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากอยากเข้าไปใช้งานพร้อมกัน เจ้าของกิจการจึงควรจะต้องใช้ดุลยพินิจกะเกณฑ์จำนวนแขกที่เข้าพักกับจำนวนห้องน้ำให้เพียงพอหรือการสร้างชุดห้องน้ำเกินเอาไว้เล็กน้อยป้องกันปัญหาห้องน้ำเต็ม
ส่วนการคิดขนาด BTU ของเครื่องปรับอากาศจะคิดจากขนาดพื้นที่ห้องคูณด้วยตัวเลข 800 เช่นห้องขนาด 16 ตร.ม. จะใช้ขนาดแอร์ 16 x 800 = 12,800 ดังนั้นจะใช้เครื่องปรับอากาศขนาด 13,000 BTU
ส่วนห้องที่อยู่ทางทิศตะวันตกโดนแดดนานๆ ห้องใต้หลังคา ห้องที่สะสมความร้อน หรือห้องมีคนอยู่เยอะ ๆ แบบห้องพักของ Hostel เราจะใช้สูตรขนาดพื้นที่ห้องคูณด้วยตัวเลข 1,000 แทน ทั้งนี้ในอาคารสาธารณะที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากก็จำเป็นจะต้องตรวจเชคความถูกต้องกับวิศวกรงานระบบซ้ำอีกครั้ง ต้องคิดเผื่อค่าที่คำนวนได้ขึ้นไปอีกเล็กน้อย
ควรตกแต่งส่วนไหนมากที่สุด ?
ที่พักแบบ Hostel นั้นเป็นห้องพักสำหรับนักเดินทางที่ต้องการเพียงที่นอนหลับพักผ่อน ไม่ได้ต้องการความเป็นส่วนตัวหรูหรา ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องไปทุ่มงบตกแต่งห้องพักให้สวยงามเลอค่าจนเกินไป แขกทุกคนที่เข้ามาพักในห้องพักราคาประหยัดควรจะได้รับมาตรฐานแบบเดียวกันในราคาห้องพักที่เท่าเทียมกัน
พื้นที่ที่ควรจะใส่ใจคือพื้นที่ส่วนกลาง lobby, ห้องกิจกรรม ที่เหล่าแบ็คแพ็คเกอร์มักจะออกมาหาเพื่อนหน้าใหม่เสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เดินทาง ควรจะต้องออกแบบตกแต่งพื้นที่ส่วนรวม Common Space ให้ดูผ่อนคลาย มีกิจกรรมสนุกสนาน มุมนั่งเล่น นอนดูทีวี ให้บริการห้องครัวแบบ Self-Service มีตู้ล็อคเกอร์ไว้เก็บของส่วนตัว มีพนักงานสื่อสารภาษาอังกฤษคอยให้คำแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวหรือรับฟังปัญหาภายในที่พัก
อ้างอิงข้อมูลจาก http://www.hostelworld.com/ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 จำนวน hostel ของไทยที่ลงทะเบียนในเว็บไซต์ คือ 602 แห่งกระจายอยู่ใน 36 จังหวัด ค่าเฉลี่ยคะแนนบริการอยู่ที่ 7.6 แค่เฉพาะพื้นที่กรุงเทพก็มี Hostel ที่ลงทะเบียนทั้งหมด 292 แห่ง ในบรรดาที่พักราคาประหยัดหลายร้อยแห่งที่กำลังเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สิ่งหนึ่งที่เจ้าของกิจการส่วนใหญ่เน้นย้ำมาคล้ายๆ กัน ก็คือเรื่องความเฟรนด์ลี่ เป็นมิตร ดูแลเรื่องความสะอาด ความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่จะไหลเวียนกันเข้ามา ต้องรักษาความเรียบร้อยภาพรวมของคนหมู่มากที่มาอยู่รวมกันเอาไว้ให้ได้